คุยนอกกรอบ : ความสุขของสิงห์นักปั่น : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์
08-06-2014 1คราวที่มีโอกาสไปเยี่ยมชม
“ห้องนิทรรศการปิโตรเลียม” ณ
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้ทราบว่า “บัญญัติ
ลายพยัคฆ์” ผู้อำนวยการศูนย์ฯ
เป็นนักปั่นจักรยานตัวยง ไปปั่นในประเทศเพื่อนบ้านก็ทำมาแล้ว
ทว่า
ทั้งที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน แต่โรคเก๊าต์ยังกำเริบ
และต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
ผอ.บัญญัติ
ตอบกลั้วเสียงหัวเราะว่าเหตุที่อาการกำเริบเพราะช่วงสงกรานต์และหลังจากนั้นมีงานเลี้ยงบ่อย
จึงไม่ทันระวังเรื่องการกินอาหาร
“สี่ปีก่อนเคยเป็นเก๊าต์
หมอบอกว่าถ้าไม่ออกกำลังกายควรกินยา หลักการของเก๊าต์ต้องกินยาเพื่อขับยูริก
หากกินยาๆ จะเข้าไปสะสมในร่างกาย พอปั่นจักรยานตรวจร่างกายไม่พบยูริกในเลือด ขณะเดียวกันเราออกกำลังกาย
ต้องการโปรตีนมาก เพราะเผาผลาญไปเยอะ ทางใต้นี่กินไก่เกือบทุกวัน ผมชอบกินปีกด้วย
(หัวเราะ)...ออกนอกบ้านกินก๋วยเตี๋ยว น้ำซุปมีซุปก้อน
พฤติกรรมการกินทำให้เกิดยูริกในร่างกายสูง ถ้าไม่ออกกำลังกายน่าจะหนักกว่านี้
ดีเหมือนกันที่เป็นทำให้ทราบว่าออกกำลังกายอย่างเดียวไม่พอ ต้องคุมอาหารการกินด้วย”
บัญญัติใช้เวลาปั่นจักรยานวันละ
2 ชั่วโมงเศษ
ทั้งเช้าและเย็น ระยะทางรวม 80 กม.หากเป็นวันเสาร์อาทิตย์ประมาณ 100
กม.!
ไม่เคยหยุด?
“เราวางแผนไม่หยุด ยกเว้นติดงาน เฉลี่ยเดือนละ 20-25
วัน
เมื่อก่อนเคยพยายามออกกำลังกายเล่นกีฬาอื่น เช่น ตีเทนนิส
มีความรู้สึกว่าเลิกงานต้องไปเล่นกีฬาอีกแล้วหรือ ภาวนาให้ฝนตก
จะได้มีเหตุผลกับตัวเอง พอเล่นปั๊บก็ดูนาฬิกาหกโมงหรือยัง เมื่อไรจะเลิก
แต่จักรยานตรงข้ามมากเลย อยากให้ถึงเวลาเร็วๆ"
ผ่านมาสามปี
มีจักรยาน 4 คัน
คันที่ 4 เป็นจักรยาน
“แฮนด์เมด” คันแรกของจังหวัดยี่ห้อ
Alex
Moulton ผลิตจากอังกฤษตามออเดอร์
และรอคิว 6 เดือน
โปรดทราบ
คันนี้ 1.4
แสนบาท
!
ถามว่าแตกต่างจากจักรยานทั่วไปอย่างไร? ผอ.บัญญัติตอบว่า
ส่วนที่เป็นเฟรมระหว่างล้อสองข้าง คันนี้เป็นนวัตกรรมบวกดีไซน์ ออกแบบเฟรมซึ่งเป็นเหล็กช่วงต่อให้เหมือนหอไอเฟล
ไม่ใช่สองสามท่อแบบที่เห็นทั่วไป ในเชิงวิศวกรรมเฟรมตัวนี้ไม่ปะทะแรงลม
จักรยานแฮนด์เมดคันนี้เป็นรถหมอบ
ล้อเล็ก 20 นิ้ว
ตัวโครงสร้างเท่ากับรถใหญ่
“เป็นเทคนิคสุดยอดของการออกแบบรถ
หากเอารถคันเล็กไปเทียบกับคันใหญ่ปกติ ส่วนสำคัญเป็นองศาเท่ากัน
แต่การออกแบบดูเล็กกว่า ที่สำคัญคือถอดประกอบได้ด้วย ไม่ใช่รถพับนะครับ
แต่ถอดออกแบ่งเป็นสองส่วน เป็นรุ่นแรกๆ เลย”
ถึงจะถอดประกอบได้
แต่เขาไม่เคยลองสักที เพราะยังไม่แม่น คราวที่ขึ้นเหนือไปดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่
จึงโหลดขึ้นเครื่องบินไปทั้งคัน พนักงานสายการบินบอกว่า ตั้งแต่เปิดบริการมา
ก็มีเขานี่แหละเป็นรายแรก
“ผมไม่มีความสามารถในการประกอบรถ
ความจริงถอดล้อ เบรก ได้หมด แต่ผมไม่ได้ถอดเอาขึ้นทั้งคัน โหลดไป
มีแต่นกแอร์ที่ยอม พนักงานที่นครฯ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ บอกตั้งแต่สายการบินเปิดมาเพิ่งเจอ
(หัวเราะ) โหลดใต้เครื่องไปทั้งคัน...เราใส่ล้อได้ แต่ส่วนสำคัญที่เป็นรายละเอียด
เช่น ระบบเบรก เกียร์ ต้องอาศัยความชำนาญมาก ผมไปปั่นที่ดอยอ่างขางมันลงเนินเยอะ
หากไม่เป๊ะอันตราย เลยเอาไปทั้งคัน”
ผอ.บัญญัติบอกว่าสั่งซื้อผ่านตัวแทนจัดตั้งในไทยที่ได้รับลิขสิทธิ์
หากสั่งผ่านอินเทอร์เน็ตจะไม่มีต้นสังกัด และว่ารถนี้รับประกันตลอดชีพ
แม้เปลี่ยนเจ้าของ เจ้าของใหม่ยังคงได้รับสิทธิ์นี้ กล่าวคือ
หากมีปัญหาบริษัทจะให้เฟรมใหม่ เฟรมคือโครงสร้างหลักของรถ
ในแง่คุณภาพ? สิงห์นักปั่นบอกว่าถือว่าเป็นจักรยานคุณภาพดี
โดยหลักสำคัญที่กำลังขาของเรา ตัวจักรยานไม่ได้ทำให้เราปั่นเร็ว
แต่อยู่ที่สมรรถนะทุกด้าน เช่น องศาของร่างกาย ความสวยงาม คงทน
บางทีต้องดูอิมเมจด้วย และว่าเวลาขี่จักรยานไปเป็นกลุ่ม สมมุติไปสัก 30 คน
พอจอดรถปั๊บ ทุกก๊วนจะเดินดูรถกัน จักรยานมีแอ็กเซสเซอรี่สูง ทุกอย่างเปลี่ยนประกอบอัพใหม่ได้หมด
ทั้งเกียร์ โซ่ แต่สำหรับเขาแล้วรถคันนี้ “สมบูรณ์ที่สุดแล้ว ถึงอัพยังไงก็ไม่สวย
มันเป็นรถที่มีแวลูอยู่ในตัว”
ตอนที่เขาเริ่มขี่เจ้าสองล้อใหม่ๆ
ก็ใช้แบบธรรมดา วันหนึ่งไปปั่นกับเพื่อน
สังเกตว่าเพื่อนปั่นได้เร็วกว่าจึงกลับไปปรึกษาร้านจักรยาน
ทางร้านบอกว่าจักรยานที่เราใช้ไม่ใช่สำหรับออกกำลังกาย จึงขายจักรยานราคา 3 หมื่นกว่าบาท
ตอนนั้นตกใจมากว่าแพง หลังจากนั้นเริ่มเอาจริงเอาจัง หาความรู้จากเว็บไซต์
ดูเทคนิควิธีการ ทำความรู้จัก ตกเย็นก็อยากออกไปขี่จักรยานทุกวัน
และเริ่มไปไกลจากบ้าน เจอเพื่อนคอเดียวกันเป็นที่มาของการมีก๊วน
และนัดแนะไปเที่ยวตามที่ต่างๆ
ถามว่าเสน่ห์ของการขี่จักรยานคืออะไร
บัญญัติตอบว่า 1.ได้ออกกำลังกาย
2.สนุก
3.ได้เพื่อนใหม่
คนปั่นจักรยานแม้ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่เป็นคนที่มีบุคลิกนิสัยใจคอเหมือนกัน
ประกอบกับเขามีเฟซบุ๊ก เวลาไปที่ไหนก็ถ่ายภาพและนำขึ้นเฟซบุ๊ก ทำให้มีคนติดตาม
มีเพื่อนตามมาเที่ยวตามเส้นทางที่โพสต์ไว้ เป็นเส้นทางที่คนไม่เคยไป
เสน่ห์ข้อที่
4. คือบ้านอยู่ใกล้น้ำตก
การปั่นจักรยานกลับบ้านเหมือนได้ปั่นขึ้นน้ำตกทุกวัน แม้ระยะทางไม่ไกลนัก
แต่ต้องใช้แรงมาก ปั่น 1 รอบ เท่ากับปั่นทางเรียบ 20 กม.
สองปีก่อนเขาร่วมทริปกับเพื่อนๆ ปั่นเจ้าสองล้อคันเล็ก จากนครศรีธรรมราช-กรุงเทพฯ
ระยะทาง 825
กม.
เพื่อมาถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนที่ประทับอยู่ รพ.ศิริราช ใช้เวลา 5 วัน
เฉลี่ยวันละ 200
กม.
จอดพักระหว่างทางที่สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี
ตามลำดับ ส่วนขากลับนั่งเครื่องบิน สิงห์นักปั่นรายนี้ยังพาสองล้อคันสวย
ไปอวดโฉมที่กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว มาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรก-จากหนองคายไปเวียงจันทน์และกลับ
ครั้งที่สอง-ปั่นในเวียงจันทน์ ครั้งที่สาม-เวียงจันทน์ไปเขื่อนน้ำงึม
เชื่อหรือไม่ว่าเรื่องของจักรยานก็นำมาจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ได้
ระหว่างวันที่
18-19
สิงหาคม
นี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาฯ จัดกิจกรรมโดยมีธีมของงานว่า “ล้อและเพลา
เอามาผ่อนแรง”
“ทุกวันนี้คนสนใจปั่นจักรยาน
ครึ่งหนึ่งปั่นไม่ถูกหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ใช้วิชาการปั่น ใช้แรงน่อง
เหนื่อยแต่ไม่ได้พัฒนากล้ามเนื้อ การหายใจ ใช้เกียร์ผิด
เราให้วิทยาศาสตร์การกีฬาอธิบายว่าต้องใช้เกียร์ไหน ตอนไหน
คนจะดูออกว่าปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกาย สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
ที่สำคัญคือระบบการหายใจ ต้องปั่นรอบขาให้สัมพันธ์กับการหายใจ ถ้าเราหายใจเป็น
เวลาปั่นขึ้นเนินที่สูง (ไม่เหนื่อยมาก) หายใจไม่เป็นแป๊บเดียวก็เหนื่อยหมดแรง
มีการแนะนำว่าเลือกรถยังไงให้เหมาะกับเรา มีการแข่งขันแรลลี่หาความรู้
ช่วงนั้นพรหมคีรีผลไม้สุกพอดี รอบศูนย์วิทย์ฯ มีสวนผลไม้เยอะ แข่งแรลลี่ทำกิจกรรม
หาอาร์ซีตามสวนผลไม้”
ภายในงานมีจักรยานแบบต่างๆ
ให้ชม เสือหมอบ เสือภูเขา รถพับ รถทัวร์ รถถอดประกอบได้เป็นไง ซึ่งยืมจากเพื่อนๆ
ในกลุ่ม
-------------------------
ปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช
มีผู้เข้าชมเยี่ยมชมปีละ 5 หมื่นคน มีผู้มาเข้าค่ายเฉลี่ย 1.5
หมื่นคนต่อปี
ทั้งยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือ “รางวัลกินรี” ถึงสองครั้งแล้ว
จุดขายล่าสุดคือ ห้องนิทรรศการปิโตรเลียม ซึ่ง “โครงการเชฟรอน พลังใจ พลังคน
เพื่อชุมชนเข้มแข็ง สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน” ออกแบบและก่อสร้าง
โดยได้รับทุนจาก บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
ภายในห้องมีผังนิทรรศการ
อาทิ ปิโตรเลียมคืออะไร การค้นพบในไทย การขนส่งลำเลียง กระบวนการกลั่นปิโตรเลียม
แท่นเจาะแบบหมุนแสดงหัวเจาะ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รัชกาลที่ 9 กับการพัฒนาพลังงาน
มีรูปแบบจำลองแท่นเจาะปิโตรเลียมนอกชายฝั่งชนิดแท่นถาวร
ซึ่งแสดงให้เห็นภาพเหนือน้ำ ใต้น้ำ ว่ามีลักษณะอย่างไร ฯลฯ
ธนาภรณ์
แสงใส ครูผู้ช่วยศูนย์วิทย์ฯ บอกว่าตอนนี้ห้องปิโตรเลียมได้รับความสนใจเป็นอันดับ 1 เพราะเพิ่งเปิด
“เด็กๆ ตื่นเต้นที่เห็นโมเดลเครื่องขุดเจาะ
ซึ่งเป็นรูปแบบจำลองแท่นเจาะปิโตรเลียมนอกชายฝั่งชนิดแท่นถาวร
และรูปแบบจำลองแท่นเจาะปิโตรเลียมบนบก
มีหัวเจาะขุดหาน้ำมันในทะเลตัวจริงซึ่งเลิกใช้แล้วจำนวน 2 ชิ้น...เราเพิ่มเป็นหนึ่งในฐานสำหรับแรลลี่
เด็กบางกลุ่มไม่รู้อะไรเลย อนุบาลชอบชมห้องนี้บอกว่าสีสวย มีโมเดลให้ดู
ทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าปิโตรเลียมเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป"
-------------------------
(คุยนอกกรอบ
: ความสุขของสิงห์นักปั่น : โดย...สินีพร มฤคพิทักษ์)