รางวัลกินรีสองปีซ้อน
03-12-2014 1ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช คว้ารางวัลกินรี ๒ ครั้งซ้อน
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของโลกและเป็นสินค้าหลักในระบบการค้าระหว่างประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยตลอดทศวรรษที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นพลังขับเคลื่อนที่มีบทบาทชัดเจน เป็นสินค้าหลักที่กระตุ้นให้เกิดกระแสการเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศ เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งนำไปสู่การจ้างงานสร้างอาชีพ การกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง แต่จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันตลอดจนเป็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปจากเดิม สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวจึงมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะสินค้าคุณภาพที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมและการจัดระบบการรองรับที่ดีจึงเป็นส่วนสำคัญต่อการผลักดันตัวสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมาตรฐานจึงจัดทำโครงการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร ชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ และจัดต่อเนื่องทุก ๒ ปี จนถึงปัจจุบันได้มอบรางวัลเป็นครั้งที่ ๙ ประจำปี ๒๕๕๖
ทั้งนี้ผลงานที่ได้รับรางวัลจึงถือเป็นสินค้าและบริการที่ได้รับการคัดสรรมาอย่างเข้มข้นตามเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการแหล่ง การบริการ การตลาด เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนบุคลากรที่พร้อมในการรองรับการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบครบวงจร และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนภูมิใจ และตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนในการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น รางวัล “กินรี” ที่มอบให้ทุกประเภทผลงานที่ได้รับรางวัลจึงเป็นเหมือนเครื่องหมายรับรองสินค้าและบริการที่สร้างความมั่นใจและความไว้วางใจแก่นักท่องเที่ยว และสร้างภาพลักษณ์อันดีให้แก่ประเทศ
นอกจากนี้ องค์การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization: UNWTO) ยังได้ร่วมแสดงความยินดีและชื่นชมกับการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวของไทย และให้ความสำคัญกับโครงการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย(Thailand Tourism Awards)มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโครงการที่มีแนวทางที่ชัดเจน มีความสำเร็จเป็นรูปธรรมและได้ยึดหลักปฏิบัติที่ดีในการใส่ใจสิ่งแวดล้อมในมิติที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวโลก จึงให้เกียรติพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย(Thailand Tourism Awards) เป็นกิจกรรมสำคัญอีกหนึ่งกิจกรรมที่สนับสนุนในวันท่องเที่ยวโลก ในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖
ประเภทรางวัลของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ ๙ ประจำปี ๒๕๕๖ แบ่งออกเป็น ๖ ประเภทได้แก่
๑. ประเภทองค์กรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว
๒. ประเภทแหล่งท่องเที่ยว
๒.๑ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ
๒.๒ แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
๒.๓ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
๒.๔ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
๒.๕ แหล่งนันทนาการ
๒.๕.๑ เพื่อการเรียนรู้
๒.๕.๒ เพื่อความบันเทิง
๒.๕.๓ เพื่อการผจญภัย
๒.๖ เส้นทางภูมิทัศน์เพื่อการท่องเที่ยว
๓. ประเภทที่พักนักท่องเที่ยว
๔. ประเภทรายการนำเที่ยว
๕. ประเภทการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
๖. ประเภทนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย
โดยมีกรอบแนวคิดการตัดสินรางวัลเชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- องค์การการท่องเที่ยวโลก (WTO,2004)
- แผนแม่บทโลก (The Earth Summit : Agenda 21)
- มูลนิธิสหประชาชาติ (United Nations Foundation)
- นโยบายรัฐบาล
- นโยบายการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ซึ่งได้จำแนกกรอบแนวคิด การตัดสินรางวัลทั้ง ๖ ประเภท ออกเป็นดังนี้
กรอบแนวคิดที่ ๑ การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนใน ๔ มิติ
๑. การบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม/ทรัพยากรธรรมชาติ
๒. การบริหารจัดการที่ตระหนักต่อประเพณีวัฒนธรรม/วิถีชีวิต
๓. การบริหารจัดการที่ชุมชนมีส่วนร่วม และกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างเป็นธรรม
๔. การบริหารจัดการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน
กรอบแนวคิดที่ ๒ การนำแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้
กรอบแนวคิดที่ ๓ การสร้งคุณค่าและมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการการท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
กรอบแนวคิดที่ ๔ การมีความพร้อมในการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยว ตลอดจนการนำแนวทางการตลาดแนวใหม่มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการขาย
โครงการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ ๙ ประจำปี ๒๕๕๖ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น ๒๗๑ ผลงาน และมีผลงานที่ได้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับรับรางวัลทั้งสิ้น ๑๑๔ ผลงาน ทั้งนี้ผลงานที่ได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการเพื่อการเรียนรู้ มีทั้งหมด ๑๒ ผลงานทั่วประเทศ ได้แก่
ภาคกลาง
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ สามพราน ริเวอร์ไซด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม
รางวัลดีเด่น ได้แก่ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และ
วังดุมเมาท์เทนแคมป์ (ศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทน) อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
ภาคเหนือ
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
รางวัลดีเด่น ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี อ.เมือง จ.พิษณุโลก
เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อ.หางดง จ.เชียงใหม่
ภาคตะวันออก
รางวัลดีเด่น ได้แก่ ปราสาทสัจธรรม อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินช้างดึกดำบรรพ์ และไดโนเสาร์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา
รางวัลดีเด่น ได้แก่ หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนภิเษก อ.เมือง จ.มุกดาหาร
สวนทุ่ง ลุงพี รีสอร์ท อ.มะขามสอ จ.นครราชสีมา